วันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

"เกาะในประเทศไทย"


ประเทศไทยมีชายฝั่งทะเล ทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ รวมความยาวประมาณ 2,815 กม. และมีเกาะใหญ่น้อยเป็นจำนวนมาก มีธรรมชาติงดงามให้เดินทางท่องเที่ยวได้ตลอดทั้งปี โดยช่วงเวลาที่ปราศจากลมมรสุมและเหมาะสำหรับท่องเที่ยวทะเล ทะเลฝั่งอันดามันในภาคใต้ทิศตะวันตก และฝั่งอ่าวไทยตอนบนในภาคตะวันออก เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงเดือนเมษายน ส่วนทะเลฝั่งอ่าวไทย ภาคใต้ทิศตะวันออก เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงเดือนตุลาคม
ทราบกันหรือไม่คะว่าเกาะในประเทศไทยมีทั้งหมดกี่เกาะ?
ข้อมูลจาก กองแผน ศูนย์สารสนเทศ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง บอกว่า ในน่านน้ำทะเลของประเทศไทย มีเกาะจำนวนทั้งสิ้น 936 เกาะ ซึ่งกระจายอยู่ใน 19 จังหวัด เป็นเกาะในฝั่งอ่าวไทย 374 เกาะ และฝั่งทะเลอันดา 56 เกาะ จังหวัดที่มีจำนวนเกาะมากที่สุดคือ จังหวัดพังงา (155 เกาะ) รองลงมาคือจังหวัดกระบี่ (154 เกาะ) และจังหวัดสุราษฎร์ธานี (108 เกาะ)

กาะที่มีขนาดพื้นที่เกินกว่า 100 ตร.กม. มีจำนวน 6 เกาะ เกาะที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดคือ เกาะภูเก็ต (514.675 ตร.กม.) รองลงมาเป็นเกาะสมุย (236.079 ตร.กม.) เกาะช้าง (212.404 ตร.กม.) เกาะตะรุเตา (150.84 ตร.กม.) เกาะพะงัน (122.017 ตร.กม.) และเกาะกูด (111.894 ตร.กม.)
เกาะมากกว่าครึ่งหนึ่ง (491 เกาะ) อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล รองลงมาเป็นเกาะอยู่ภายใต้การดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีบางส่วนอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือเพื่อกิจการด้านความมั่นคงของประเทศ เกาะเหล่านี้ถูกใช้ประโยชน์ในทางทหาร เป็นที่พักและจอดเรือของกองทัพ เป็นที่ตั้งของประภาคารหรือสัญญาณไฟในการเดินเรือ รวมทั้งบางเกาะใช้เป็นสถานีตรวจวัดทางอุทกศาสตร์และเฝ้าระวังเตือนอุบัติภัยทางทะเล
เกาะในฝั่งอ่าวไทย(374เกาะ)

อันดับที่ 1 จังหวัดสุราษฎร์ธานี
มีเกาะมากที่สุดในอ่าวไทย 108 เกาะ เกาะสมุยมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศรองจากเกาะภูเก็ต ส่วนเกาะที่มีขนาดใหญ่รองลงมา คือ เกาะพะงัน หมู่เกาะอ่างทองซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ปลาทูที่สำคัญในอ่าวไทย
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เกาะแตน เกาะสมุย เกาพะงัน เกาะวัวตาหลับ เกาะแม่เกาะ เกาะเต่า และเกาะนางยวน
อันดับที่ 2 จังหวัดตราด
มีจำนวน 66 เกาะ เกาะส่วนมากอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะช้าง เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เกาะช้าง รองลงมาคือ เกาะกูด เกาะหมาก เกาะรัง เกาะกระดาด และเกาะไม้ซี้
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมกันมาก อาทิ เกาะช้าง เกาะกู เกาะหมาก เกาะขาม เกาะเหลายา เกาะหวาย เกาะทรายขาว และเกาะง่าม
อันดับที่ 3 จังหวัดชุมพร
มีจำนวน 54 เกาะ เกาะส่วนมากอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพรและเป็นเกาะขนาดเล็ก เกาะที่มีขนาดใหญ่กว่า 1 ตร.กม. มีเพียงเกาะเอียงและเกาะเสม็ด เกาะในจังหวัดชุมพรเป็นเกาะที่มีความสวยงามกระจายอยู่จำนวนมาก มีเกาะหลายเกาะที่ได้รับสัมปทานเก็บรังนกอีแอ่น เช่น เกาะมะพร้าวและเกาะลังกาจิว
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เกาะไข่ เกาะมัตรา (มีปูไก่ซึ่งเป็นปูที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะชอบปีนป่ายต้นไม้อยู่มากมาย) เกาะมะพร้าว เกาะทองหลาง เกาะลังกาจิว และเกาะพิทักษ์
อันดับที่ 4 จังหวัดชลบุรี
มีจำนวน 47 เกาะ ขนาดพื้นที่เกาะเรียงตามขนาดใหญ่ที่สุดสามเกาะ คือ เกาะคราม เกาะสีชัง และเกาะล้าน เกาะเกือบครึ่งหนึ่งของชลบุรีอยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือ อ่าวสัตหีบเป็นที่ตั้งของฐานทัพเรือ ซึ่งมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเกาะและทะเลไทย เกาะที่อยู่ภายใต้การดูแลของกองทัพเรือได้รับการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอย่างดี เช่น เกาะคราม ที่เป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเลหนึ่งในสองแหล่งที่เหลืออยู่ในอ่าวไทย เกาะขามเป็นที่ตั้งของอุทยานใต้ทะเล อยู่ในการดูแลของกองเรือป้องกันฝั่ง
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เกาะล้าน เกาะสีชัง เกาะขามใหญ่ เกาะค้างคาว และเกาะขาม
อันดับที่ 5 จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
มีจำนวน 23 เกาะ เกือบทั้งหมดเป็นเกาะขนาดเล็กกว่า 1 ตร.กม. ยกเว้นเกาะทะลุในอำเภอบางสะพานน้อย ซึ่งจัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่สำคัญของจังหวัด
อันดับที่ 6 จังหวัดจันทบุรี
มีจำนวน 19 เกาะ เกาะส่วนมากเป็นเกาะขนาดเล็ก เกาะที่มีขนาดพื้นที่มากที่สุด คือ เกาะโขดขลู มีขนาดเพียง 5.7 ตร.กม.
อันดับที่ 7 จังหวัดพัทลุง
มีจำนวน 18 เกาะ ทั้งหมดเป็นเกาะที่อยู่ในทะเลสาบสงขลา และอยู่ในอำเภอปากพะยูนทั้งสิ้น ได้แก่ เกาะนางคำ เกาะหมาก เกาะแกง เกาะโคบ เกาะสี่ เกาะห้า ในจำนวนนี้มีหลายเกาะที่ได้รับการสัมปทานรังนกอีแอ่น
อันดับที่ 8 จังหวัดระยอง
มีจำนวน 16 เกาะ เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เกาะเสม็ด รองลงมาคือ เกาะมันใน เกาะส่วนมากอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้าหมู่เกาะเสม็ด และเกาะที่มีความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะเต่าทะเล คือ เกาะมันใน ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเลในสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เกาะเสม็ด เกาะกุฎี เกาะทะลุ และเกาะมันนอก
อันดับที่ 9 จังหวัดนครศรีธรรมราช
มีจำนวน 9 เกาะ เกาะทั้งหมดมีขนาดเล็กมีขนาดไม่เกิน 1 ตร.กม. เกาะที่ใหญ่ที่สุดคือเกาะท่าไร่ รองลงมาคือเกาะกระซึ่งเป็นเกาะที่ค่อนข้างห่างจากชายฝั่งมาก เกาะกระเป็นแหล่งวางไข่เต่าทะเลที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในอ่าวไทยเช่นเดียวกับเกาะคราม ในจังหวัดชลบุรี มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพอย่างสูง
อันดับที่ 10 จังหวัดสงขลา
มีจำนวน 6 เกาะ เกาะที่มีขนาดใหญ่สุดเป็นเกาะที่ตั้งอยู่ในทะเลสาบสงขลา คือ เกาะยอ
อันดับที่ 11 จังหวัดปัตตานี
มีจำนวน 4 เกาะ เกาะตู้และเกาะบาเละ ในอำเภอยะหริ่ง เป็นเกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด
อันดับที่ 12 จังหวัดนราธิวาส
มีจำนวน 3 เกาะ ทั้งหมดเป็นเกาะขนาดเล็ก
อันดับที่ 13 จังหวัดฉะเชิงเทรา
มีเกาะเพียงเกาะเดียวคือ เกาะกลาง บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง เป็นเกาะที่เกิดจากสันดอนปากแม่น้ำ เกาะประกอบด้วยป่าชายเลนทั้งเกาะ จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของนกน้ำจำนวนมาก ความหลากหลายทางชีวภาพในบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงได้มีการศึกษาวิจัยเป็นอย่างดี

เกาะในฝั่งทะเลอันดามัน(56เกาะ)
อันดับที่ 1 จังหวัดพังงา
มีจำนวนเกาะมากที่สุด 155 เกาะ เกาะที่มีพื้นที่มากที่สุดสามลำดับแรก คือ เกาะพระทอง เกาะยาวใหญ่ และเกาะคอเขา เกาะส่วนมากตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติทางทะเล อาทิ อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ และอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อุทยานเหล่านี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นิยมกันมาก คือ เกาะพระทอง เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะสุรินทร์ใต้ เกาะตอรินลา เกาะปาจุมบา เกาะสต๊อร์ค เกาะสิมิลัน เกาะสี่ เกาะปันหยี เกาะเขาพิงกัน-เขาตาปู เกาะยาวใหญ่ เกาะยาวน้อย เกาะไข่ใน และเกาะไข่นอก
อันดับที่ 2 จังหวัดกระบี่
มีจำนวน 154 เกาะ เกาะขนาดใหญ่สามอันดับแรก คือ เกาะลันตาใหญ่ เกาะลันตาน้อย และเกาะปู
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญระดับโลก อาทิ เกาะไก่ เกาะทับ เกาะหม้อ เกาะปอดะ เกาะห้อง เกาะไผ่ เกาะพีพีเล เกาะพีพีดอน เกาะลันตาน้อย เกาะลันตาใหญ่ เกาะศรีบอยา เกาะจำ เกาะตะละเบ็ง เกาะรอก และเกาะไหง

อันดับที่ 3 จังหวัดสตูล
มีจำนวน 106 เกาะ เกาะที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เกาะตะรุเตา รองลงมาเป็น เกาะตำมะลัง และเกาะตะเบ็ง
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เกาะตะรุเตา เกาะไข่ เกาะหลีเป๊ะ เกาะอาดัง เกาะราวี เกาะหินงาม เกาะยาง เกาะดงเกาะบูโหลนเล เกาะบูโหลนดอน เกาะบูโหลนไม้ไผ่ เกาะตะเกียง เกาะสาหร่าย และเกาะลิดี
อันดับที่ 4 จังหวัดระนอง
มีจำนวน 56 เกาะ เกาะที่มีขนาดใหญ่พื้นที่มากกว่า 10 ตร.กม. คือ เกาะทรายดำ เกาะช้าง และเกาะพยาม
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เกาะเหลา เกาะช้าง เกาะพยาม และหมู่เกาะกำ
อันดับที่ 5 จังหวัดตรัง
มีจำนวน 54 เกาะ เกาะที่มีขนาดใหญ่สุด คือ เกาะตะลิบง รองลงมาเป็นเกาะสุกร และเกาะมุก
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ คือ เกาะกระดาน เกาะมุก เกาะเชือก เกาะลิบง เกาะสุกร และเกาะหลาวเหลียง
อันดับที่ 6 จังหวัดภูเก็ต
มีจำนวน 37 เกาะ เกาะภูเก็ตเป็นที่ตั้งจังหวัดและเป็นเกาะที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เกาะที่มีขนาดรองลงมา คือ เกาะสิเหร่ และเกาะราชาใหญ่
เกาะที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ นอกจากเกาะภูเก็ตที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก แล้วยังมีเกาะอื่นๆ ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ ได้แก่ เกาะราชาใหญ่ เกาะเฮ เกาะแก้ว เกาะบอน เกาะมะพร้าว เกาะรังใหญ่ เกาะรังน้อย และเกาะไม้ท่อน



credit : http://www.teeteawthai.com


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น